มารยาทในการเล่นหมากล้อม (ญี่ปุ่น)

สวัสดีคะ วันนี้เปาก็อยากจะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการเล่นหมากล้อมอย่างถูกต้องมาฝากผู้อ่านกัน เปาได้มีโอกาสได้ไปเล่นหมากล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น ได้สัมผัสกับความมีระเบียบวินัยและมารยาทของคนญี่ปุ่น เพื่อนคนญี่ปุ่นของเปาถึงขนาดกล่าวว่า ฝีมือของนักเล่นหมากล้อมญี่ปุ่นไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นที่หนึ่งของโลก (ก็มีทั้งจีนและเกาหลีที่อยุ่ในระดับทัดเทียมกัน) แต่เราสามารถพูดได้เต็มปากว่ามารยาทในการเล่นของเราเป็นที่หนึ่ง วันนี้เรามาลองดูกันนะคะว่ามารยาทของเค้าจะแตกต่างจากที่เราทำกันอยู่ในทุกวันนี้มั้ย ถ้าเรารู้ว่าที่เราทำอยู่มันผิด เราก็มาช่วยเปลี่ยนแปลงกันเถอะคะ

โดยพื้นฐานแล้ว ชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไปในความเคารพบูชากับลัทธิบูชิโดหรือลัทธินักรบ (แนวทางการดำเนินชีวิตของพวกซามูไร) ที่ยึดถือความเรียบง่าย ความมีระเบียบวินัย ความสงบในจิตใจ และมารยาทต่อผู้อื่น ชาวญี่ปุ่นผู้รักการเล่นหมากล้อมก็เช่นกัน เปรียบการเล่นหมากล้อมเหมือนกับลัทธินักรบ จึงให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ในการเล่น และมารยาทในการเล่นเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า ?จงเล่นหมากล้อมอย่างงดงามใสสะอาด จงคำนึงถึงมารยาทมากกว่าผลแพ้ชนะ? เมื่อนั่งอยู่หน้ากระดานต้องสำรวมท่าทางและจิตใจ คนที่น่าเคารพนับถือในแวดวงหมากล้อมนั้น ใช่จะเป็นแค่คนที่เล่นหมากล้อมเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนที่มีบุคลิกท่าทางและนิสัยดีด้วย

Shuntei_Miyagawa-Flowers_of_the_Floating_World-Playing_Go-Japanese_Chess-01-06-30-2007-8701-x800

เรื่องแรก เราต้องมองกระดานหมากล้อมเสมือนของสูงที่เราต้องให้ความเคารพ การนำสิ่งของไปวางบนกระดานนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือบนกระดาน หรือการวางแก้วน้ำ แม้กระทั่งนั่งเท้าคางบนกระดานก็ทำไม่ได้ ถือเป็นการดูหมิ่นหมากล้อมเลยทีเดียว

เรื่องที่ 2 ในการเล่นทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในการแข่งขันหรือการเล่นฝึกฝีมือกัน ทั้ง 2 ฝ่ายต้องพูดว่า ขอความกรุณาด้วยคะ/ครับ? และก้มหัวลงเล็กน้อย ก่อนเริ่มเล่น และพูด ?ขอบคุณมากคะ/ครับ? หลังจบเกมส์ เพื่อเป็นการแสดงออกว่า เราให้ความนับถือกันและกันในฐานะนักเล่นหมากล้อม เป็นเรื่องที่ลืมไม่ได้โดยเด็ดขาดนะคะ

เรื่องที่ 3ในเกมส์ที่ใช้นาฬิกาจับเวลา ผู้ที่ได้ถือหมากขาวมีสิทธิ์เลือกด้านที่วางนาฬิกาตามความถนัดของตัวเอง

เรื่องที่ 4 ท่านั่งในการเล่นหมากล้อม ถ้านั่งบนพื้น ก็ต้องนั่งให้เรียบร้อย อาจจะเป็นท่าขัดสมาธิ หรือท่าเทพ
ธิดาก็ได้ (นั่งทับขาของตัวเองที่พับไปด้านหลังทั้ง 2 ข้าง) ในกรณีการนั่งบนเก้าอี้ เราก็ห้ามยกขาขึ้น การนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ก็ไม่สมควร ที่ถูกต้องคือควรนั่งเอาขาสองข้างห้อยลงตามสบาย หรือนั่งไขว่ห้างก็ได้คะ การยกขาขึ้นขณะเล่นถือเป็นการเสียมารยาทต่อฝ่ายตรงข้ามเป็นอย่างมาก

3606831198_984c70ba44

 

เรื่องที่ 5 ในเรื่องการวางหมากลงบนกระดาน เราทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่า เมื่อเราวางหมากลงบนกระดานแล้ว ห้ามขยับแก้ไข มิฉะนั้นจะโดนปรับแพ้ อีกเรื่องที่เราไม่ควรลืมคือ เราต้องวางอย่างชัดเจน ไม่ลังเล เพราะเราต้องตัดสินใจเลือกจุดที่จะลงไว้ในใจแล้วก่อนที่จะจับเม็ดหมากขึ้นมาจากโถ แม้จะยังไม่ได้ปล่อยเม็ดหมากออกจากมือ แต่การที่จะเลื่อนเม็ดไปมาบนกระดานก็เป็นเรื่องที่ถือเป็นการไม่เคารพฝ่ายตรงข้ามมาก ใครที่เคยทำก็อย่าทำอีกนะคะ อยากลงตรงไหนเราก็ลงไปเลย แต่ถ้าเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นมาจริงๆอย่างสุดวิสัย เราก็กล่าวขอโทษฝ่ายตรงข้าม แล้ววางหมากคืนใส่โถและเริ่มคิดใหม่อีกครั้งได้คะ (แต่ก็อย่าทำบ่อยนะคะ)

เรื่องที่ 6 ในเรื่องการวางหมากนอกจากต้องวางให้ชัดเจนแล้ว ในเกมส์ที่ใช้นาฬิกาจับเวลา ต้องวางก่อนค่อยกดนาฬิกา ถ้าเป็นตาที่เป็นการจับหมากกินต้องหยิบหมากที่ถูกจับกินของฝ่ายตรงข้ามออกจากกระดานออกให้หมดก่อนกดนาฬิกา แม้เราจะสามารถประหยัดเวลาได้จนบางกรณีอาจชนะฝ่ายตรงข้ามเพราะฝ่ายตรงข้ามเวลาหมด ก็ถือเป็นชัยชนะที่ไม่ใสสะอาด ไม่มีค่าควรแก่การภาคภูมิใจ

เรื่องที่ 7 การกดนาฬิกาต้องใช้มือเดียวกับที่ใช้วางเม็ดหมากกด จะใช้มือขวาวางหมากแล้วใช้มือซ้ายกดนาฬิกาไม่ได้

เรื่องที่ 8 ระหว่างการเล่น ห้ามพูดเชิงแนะนำสั่งสอนฝ่ายตรงข้ามหรือหัวเราะ โดยเด็ดขาด เวลาเล่นก็ไม่ควรคุยกับคนอื่นไปด้วย เพราะจะดูเหมือนเราไม่จริงจังในการเล่นหมากกระดานนั้น เป็นการรบกวนสมาธิฝ่ายตรงข้ามที่กำลังคิดอยู่และเป็นการดูถูกฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย

เรื่องที่ 9 เมื่อเล่นจนถึง ดาเมะ (การถมพื้นที่ที่ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเมื่อจบเกมส์แล้ว) เราต้องบอกฝ่ายตรงข้ามว่าจบเกมส์แล้วนะ เป็นการยืนยันว่าจบเกมส์แล้วจากทั้งสองฝ่าย แล้วค่อยผลัดกันถมพื้นที่ และในกรณีที่ใช้นาฬิกาจับเวลา ต้องหยุดนาฬิกาเมื่อทั้งสองฝ่ายยืนยันกันว่าจบเกมส์แล้วทั้งคู่ (กติกาญี่ปุ่นจะไม่นับดาเมะอยู่ในเกมส์ด้วย จึงไม่ใช้นาฬิกาจับเวลา แต่ในกติกาจีนดาเมะยังนับรวมอยู่ในเกมส์ จึงต้องใช้นาฬิกาจับเวลาต่อ กรณีประเทศไทยที่ผ่านมานั้น ใช้การนับตามแบบกติกาญี่ปุ่น การใช้นาฬิกาเราจึงควรใช้ตามกติกาญี่ปุ่นด้วยคะ)

เรื่องที่ 10 ตามปกติเมื่อสภาพหมากและพื้นที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สามารถไล่ตามทันอีกฝ่ายได้แล้ว ฝ่ายที่พ่ายแพ้ก็จะกล่าวขอยอมแพ้ว่า ?ไม่มีทางแล้วคะ/ครับ? หรือ ?ยอมแพ้แล้วคะ/ครับ? หรืออาจใช้การวางหมากสองเม็ดลงบนกระดานเพื่อเป็นการสื่อถึงการขอยอมแพ้กลางกระดาน (จูโอชิ) เช่นเดียวกับการพูด แต่ถ้าเราเล่นกันจนถึงขั้นดาเมะแล้ว ห้ามกล่าวขอยอมแพ้แล้วจบเกมส์โดยที่ไม่นับพื้นที่เด็ดขาด เพราะถือเป็นการเสียเวลาฝ่ายตรงข้าม (ถ้ารู้ตัวว่าแต้มไม่สามารถไล่ตามทันก็ควรจะขอยอมแพ้ก่อนที่จะเล่นจนจบ)

เรื่องที่ 11 การนับแต้ม ฝ่ายขาวจะนับให้ดำ และในทางกลับกัน ฝ่ายดำจะนับให้ขาว โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อใจ ให้เกียรติฝ่ายตรงข้ามว่าจะไม่มีการโกงพื้นที่กันแน่นอน ควรนับพื้นที่โดยปรับพื้นที่ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม เพื่อความสะดวกในการนับ และกล่าวบอกแต้มของฝั่งตรงข้ามให้ฝั่งตรงข้ามได้รู้อย่างชัดเจน

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องมารยาทในการเล่นหมากชี้แนะ ผู้ที่มีฝีมือเหนือกว่าต้องตั้งใจเล่นอย่างเต็มที่ จะถือว่าฝ่ายตรงข้ามฝีมืออ่อนด้อยกว่าแล้วเล่นหลอกล่อให้ฝ่ายตรงข้ามสับสนจนลงผิดพลาดไม่ได้ คนญี่ปุ่นถือว่าผู้เล่นประเภทที่เล่นเพื่อรอฝ่ายตรงข้ามผิดพลาดนั้นเป็นผู้เล่นที่น่ารังเกียจเลยทีเดียว พวกเราก็อย่าทำนะคะ ไม่ว่าจะเล่นกับใครก็ตามต้องเล่นให้สุดฝีมือ

นี่ก็เป็นมารยาทในการเล่นหมากล้อมของประเทศญี่ปุ่นโดยคร่าวๆนะคะ ความจริงยังมีเรื่องที่ละเอียดมากกว่านี้อีกมาก โดยเฉพาะพวกอินเซย์และโปร จะต้องรักษากฏระเบียบมากกว่านี้อีก แต่สำหรับมือสมัครเล่นอย่างเรา ควรถือหลักง่ายๆคือ ให้เกียรติฝ่ายตรงข้ามและไม่ทำสิ่งใดใดที่อาจถือเป็นการไม่เคารพหมากล้อม(รวมถึงอุปกรณ์การเล่น) ก็เพียงพอแล้วคะ หลังจากนี้เมื่อเล่นหมากล้อมทุกครั้งก็อย่าลืมปฏิบัติตามนะคะ อย่าให้ชาวต่างชาติเขามาดูถูกเราได้ว่า นักเล่นหมากล้อมไทยไม่มีมารยาท เราต้องแสดงให้เค้าเห็นว่าพวกเรามีวัฒนธรรมการเล่นไม่แพ้ชาติใดในโลกคะ

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จากน้องเปา (1ดั้ง) ที่นำเรื่องราวของมารยาทที่ดีมาเล่าสู่พวกเรา หวังว่าเมื่ออ่านบทความนี้จบแล้ว นักหมากล้อมคงจะรักษาเรื่องของมารยาทกันมากขึ้น อย่าเพียงแค่พัฒนาฝีมือหมากล้อมเท่านั้น ต้องเล่นหมากล้อมอย่างมีมารยาท ด้วยนะครับ

Cr. นส.แสงเทียน รัตนเสรีวงศ์ (น้องเปา) 1ดั้ง