หมากล้อมในยุคสมัยราชวงศ์ถังซ่งและหยวน
ในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง หมากล้อมถือเป็นสมัยที่สองเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากบรรดาจักรพรรดิต่างชื่นชอบและเหตุผลอื่นๆ หมากล้อมได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ความนิยมเล่นหมากล้อมแผ่ขยายไปทั่วหล้า ในสมัยนี้ หมากล้อมไม่ได้มีประโยชน์แต่เพียงการสงคราม แต่คุณค่าสำคัญคือมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ให้ความเพลิดเพลินและเพิ่มพูนสติปัญญา ผู้คนถือว่าการเดินหมากล้อม เล่นดนตรี แต่งบทกวี และการวาดภาพเป็นของที่สูงส่ง กลายมาเป็นเกมการละเล่นของผู้คนทุกเพศทุกวัย
ในสมัยราชวงศ์ถัง หวังจีซิน(王积薪,Wang Jixin)ถูกยกย่องให้เป็นนักหมากล้อมอันดับหนึ่งของแผ่นดินจีนคนแรก เขาได้บันทึกเคล็ดวิชาหมากล้อมขึ้นมาฉบับหนึ่งชื่อว่า “เคล็ดวิชาหมากล้อม 10 ประการ” (围棋十诀, Weiqi Shi Jue) เคล็ดวิชาทั้งสิบประการนี้ ได้แก่ “อย่าโลภถึงชัยชนะ ลดทอนอย่างใจเย็น โจมตีเขาป้องกันตัวเอง สละหมากเพื่อชิงมือนำ ทิ้งเล็กเพื่อเอาใหญ่ เจออันตรายต้องสละ เดินแข็งแรงระวังเปราะบาง หมากต้องตอบรับกับฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามแข็งแรงตัวเองต้องป้องกัน เมื่อมีกลุ่มหมากอ่อนแอถามหาสันติ” เคล็ดวิชาสิบประการนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นทฤษฎีหมากล้อมคลาสสิก
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีบันทึกหมากสำคัญของหวังจีซิน เป็นบันทึกหมากเด็ดที่เดินดักหมากขั้นบันไดสองทางในเม็ดเดียว บันทึกลงในบันทึกหมาก “ลืมความกังวล ความสุขบริสุทธิ์” (忘忧清乐集, Wangyou Qingle Ji) ที่เป็นบันทึกรวบรวมบันทึกหมากสำคัญที่รวบรวมโดย หลี่อี้หมิน(李逸民,Li Yimin) ถือเป็นหนึ่งในคัมภีร์หมากล้อมที่เก่าแก่ที่สุดที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน
หมากล้อมได้แพร่หลายไปญี่ปุ่นในสมัยราชวงศ์ถัง ในตอนนั้น ณ นครฉางอาน มีนักศึกษาชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก พวกเขาเหล่านี้ได้ศึกษาความรู้เกี่ยวกับจีนมากมายรวมถึงศิลปะหมากล้อมด้วย แต่อันที่จริงแล้วหมากล้อมได้แพร่หลายไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์ถังตั้งแต่สมัยเว่ยจิ้นแล้ว โดยเริ่มเข้าไปที่คาบสมุทรเกาหลีก่อน ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นมากว่า 1,200ปี ก็เกิดเป็นสามมหาอำนาจหมากล้อมได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง จางหนีได้เขียน “คัมภีร์หมากล้อม 13ประการ” (棋经十三篇, Qijing Shisan Pian) ขึ้นมา ซึ่งมีประโยชน์และส่งอิทธิพลต่อทฤษฎีหมากล้อมในยุคต่อมาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในสมัยราชวงศ์ซ่งยังมีบันทึกตำราหมากล้อมระดับสูงอีกมากมายเช่นกัน ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกหมาก “ลืมความกังวล ความสุขบริสุทธิ์” (忘忧清乐集, Wangyou Qingle Ji) ซึ่งในตำราเล่มนี้ก็มีเก็บบันทึก “คัมภีร์หมากล้อม13ประการ” ไว้ในเล่มด้วย
ในสมัยราชวงศ์หยวน เหยียนเต๋อฟู่ (严德甫, Yan Defu)และเยี่ยนเทียนจาง (晏天章,Yan Tianzhang)ได้ร่วมกัน·บันทึกคัมภีร์หมากล้อม “เสวียนเสวียนฉีจิง” (玄玄棋经,Xuanxuan Qijing) ซึ่งได้รวบรวมบันทึกและทฤษฎีหมากล้อมของคนสมัยก่อนรวมถึงโจทย์หมากเป็นหมากตายและสูตรมุม คัมภีร์หมากล้อมฉบับคลาสสิคนี้มีความสำคัญต่อวงการหมากล้อมในยุคหลังมาก เพราะเป็นต้นแบบของโจทย์หมากล้อมในยุคต่อมามากมาย
ขอบคุณข้อมูจาก
http://games.sports.cn/zhuanti/wqgm/hc/2010-01-06/1948711.html
http://senseis.xmp.net/?GoHistory
แปลและเรียบเรียงโดย ธนพล เตียวัฒนานนท์ (ณฐ 4ดั้ง)